สปก. จับมืออีอีซี. “ปลูกกัญชาฟ้าทะลายโจรส่งออก”

ส.ป.ก. จับมือ สกพอ. ร่วมพัฒนาพืชสมุนไพร ในพื้นที่ อีอีซี พร้อมขับเคลื่อนเพิ่มคุณภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ผลิตสินค้าตรงความต้องการตลาด สร้างรายได้เกษตรกร อย่างยั่งยืน ร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

โดยมี นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ นายคณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
และ นางสาวพจณี  อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
 ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุมไชยยงค์ชูชาติ สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมการทำงานของ อีอีซี อยู่ในระยะของการสร้างการพัฒนาลงสู่ประชาชนในพื้นที่ ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า-น้ำ-ขยะ) การพัฒนาคน และสาธารณสุข ในระดับหนึ่งแล้ว การยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

จึงเป็นเป้าหมายหลักในระยะต่อไป ซึ่งความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง ส.ป.ก. และ สกพอ. ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการ ด้านการพัฒนาเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาพืชสมุนไพร และกิจการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรอย่างครบวงจร ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายที่จะยกระดับพืชสมุนไพรของไทย มีคุณภาพมาตรฐานสากล ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการทำตลาดโดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ตลอดจนการทำตลาดสมัยใหม่ ให้สมุนไพรไทยขายได้ตรงความต้องการของตลาด มีราคาสูง สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรโดยกรอบความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรฯ ที่สำคัญๆ ได้แก่

          1) สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่ อีอีซี ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

          2) สนับสนุนข้อมูลให้เกษตรกร ข้อมูลที่ดินรวมทั้งกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในพื้นที่ อีอีซี

          3) ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และพื้นที่ดำเนินการที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการพัฒนาพืชสมุนไพร นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต และขายได้ตรงตลาด

          4) สร้างเครือข่ายงานวิจัยและการต่อยอดสมุนไพรไทย ให้ได้ตรงความต้องการตลาด จะร่วมกันศึกษาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพ และครบวงจร ให้มีผลโดยเร็วและเป็นรูปธรรม มีระยะเวลา 2 ปี ตามอายุของข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือนี้

ทั้งนี้ อีอีซี ได้ดำเนินการพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อีอีซี โดยมีแผนพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทำร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในการนำเทคโนโลยี มาพัฒนาการผลิตและการตลาดให้ตรงกับความต้องการซื้อ โดยใช้ EECi เป็นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีภาคเกษตร และยังได้จัดทำโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง ชุมชนการนิคมแห่งประเทศไทย และ ปตท. ในการทำระบบห้องเย็น (Blast Freezer & Cold Storage) เพื่อเก็บและพัฒนาสินค้าผลไม้ไว้ขายนอกฤดูกาล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้

Cr. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956382

Scroll Up