ที่บอกว่าโครงการนี้เป็นอภิมหาโปรเจ็กต์เพราะว่าเป็นโครงการที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของ 65 ประเทศใน 6 ภูมิภาค ทั้งในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา ด้วยเส้นทางสายไหมสมัยใหม่ที่จีนใช้เรียก นโยบายการเชื่อมโยงประเทศที่เป็นพันธมิตร หากโครงการนี้สำเร็จจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
โครงการนี้วางจะสร้างทางบก 6 เส้นทาง และเส้นทางทะเล 1 เส้นทาง เส้นทางเฉลียงทางบก ประกอบด้วย
1) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกจีนถึงตะวันตกรัสเซีย
2) เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก
3) เส้นทางตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี
4) เส้นทางจีน-แหลมอินโดจีน-สิงคโปร์
5) เส้นทางจีน-ปากีสถาน
6) เส้นทางจีน-เมียนมา-บังกลาเทศ-อินเดีย
นโยบายนี้เดือดร้อนถึงไทย ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้ถูกปักหมุดอยู่ในเส้นทางที่จีนวางไว้เลย เพราะเป็นการลากเดินเส้นทางอ้อมไทยไปทางสิงคโปร์ อีกทางด้านหนึ่งก็อ้อมไทยไปทางเมียนมาฝั่งอินเดีย แต่ไทยยังหวังว่าไทยยังเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งก็คือ จีน-คาบสมุทรอินโดจีน ที่รวมถึงประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชา อีกทั้งยังอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเป้าหมายของจีนด้วยเช่นกัน 10 ปีผ่านมา การเชื่อมโยงเส้นทาง 1 แถบ 1 เส้นทาง ไม่ใช่เรื่องง่าย จีนต้องฝ่าความท้าทายหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 และตามติดมาด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้นโยบายนี้ดูจะแผ่วไปจากกระแสสังคม แต่ล่าสุดในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 (The 16th World Chinese Entrepreneur Convention หรือ WCEC) ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย ก็ได้มีการพูดถึงนโยบายนี้อีกครั้งหลังจากผ่านความท้าทายต่าง ๆ มาครบ 10 ปี
“หลี่ เสี่ยวป้อ” นายกสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร ICBC หนึ่งในวิทยากรได้พูดถึงความสำเร็จของโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง ว่า BRI ดำเนินโครงการกว่า 3,000 โครงการ สามารถดึงดูดการลงทุนและสร้างความสัมพันธ์ 3 ใน 4 กลุ่มประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่ก่อสร้างสำเร็จ และได้เริ่มขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งในระยะเวลาแค่เพียงปีเดียวของรถไฟจีน-ลาว ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้คนระหว่างกัน ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จของจีนในการผลักดัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ มีไทยและจีนอยู่ในนี้ ความตกลงฉบับนี้เพิ่งจะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบ ทั้งลดภาษีสินค้า 39,000 รายการ สำหรับไทยแม้จะเกาะเกี่ยวอยู่ขอบ ๆ BRI แต่ยอดการค้าระหว่างไทย-จีน ในช่วง 10 ปี เพิ่มขึ้นมาก จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมา 11 ปีต่อเนื่อง มีมูลค่าการค้าระหว่างกันปีล่าสุด 2565 อยู่ที่ 1.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากปีที่เริ่มมี BRI ที่มียอดค้าขายระหว่างกันอยู่ที่ 64,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดค้าขายเพิ่ม 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10 ปี
ซึ่งหากแยกในรายละเอียดจะพบว่าการส่งออกไปจีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปี จากประมาณ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้า ก็เพิ่มขึ้นจาก 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 71,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนั่นก็คือ ไทยก็ขาดดุลการค้าจีนมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่มูลค่าการค้าในกลุ่มตลาด RCEP มียอดการค้าเพิ่มขึ้นจาก 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 10 ปี แบ่งเป็น การส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็เท่ากับยังเป็นตัวเลขขาดดุลการค้าเช่นกัน ขณะที่ในมิติของการลงทุน ในช่วงปีที่ผ่านมา นักลงทุนจีนขยายการลงทุนเข้ามาที่ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 เฉพาะในช่วงหลังโควิด ปี 2563 มีการยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอ 153 โครงการ มูลค่าการลงทุน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มาปี 2565 มีการยื่นขอ 158 โครงการ มูลค่าการลงทุน 77,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : https://www.prachachat.net/columns/news-1334552
CR.ประชาชาติธุรกิจ
#โกดังบางปะง #โกดังให้เช่า #ท่าเรือบางปะกง #บางปะกง #ท่าเรือบ้านโพธิ์ #แม่น้ำบางปะกง #โกดังฉะเชิงเทรา #คลังสินค้าให้เช่า #สินค้าเทกอง #โกดังเทกอง #โกดังเก็บสินค้า #banphoport #คลังสินค้าเทกอง #ท่าเรือข้าว #ท่าเรือสินค้าเกษตร