ท่าบกท่านาแล้ง “กรีนโลจิสติกส์ ประตูส่งออกสินค้าไทย”

ไม่นานผ่านมามีโอกาสเดินทางไปศึกษา ดูงานยังโครงการท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมกับคณะผู้บริหาร พนักงานของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA รวมถึงสื่อมวลชนอีกกว่า 20 คน ทั้งนั้นเพื่อต้องการดูระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของ บริษัท เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค จำกัด ในเครือบริษัท สิดทิโลจิสติกส์ลาว จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการท่าบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park-VLP)
ซึ่งไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลย เพราะเท่าที่สอบถาม “ศิลา เวียงแก้ว” รองประธานคณะกรรมการบริหารการค้า และการควบคุมบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง และ “สาคอน พิลางาม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่านาแล้ง ดราย พอร์ต จำกัด ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า…ตอนนี้รถขนส่งสินค้าของเราเกือบ 100% ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และที่นี่มีสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นของตัวเอง
นอกจากนั้น “ศิลา” ยังเล่าถึงภาพรวมของโครงการนี้ให้ฟังว่า เนื่องจาก สปป.ลาว เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (land-locked) ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง รวมถึงการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศ และการส่งออกสินค้าจำเป็นต้องผ่านท่าเรือของประเทศที่สาม จึงไม่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติมาตั้งฐานผลิตในประเทศของเรา
ดังนั้น เมื่อรัฐบาล สปป.ลาว ภายใต้การนำของ “พันคำ วิพาวัน” นายกรัฐมนตรี กำหนดให้แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564-2568) เพื่อยกระดับจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศศูนย์กลางการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (land-locked to land-linked) และเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ รวมถึงนโยบาย Lao Logistics Link (LLL) ในการสร้างโอกาส และปรับเปลี่ยน landscape ของ สปป.ลาว ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคต
จึงทำให้กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว ในนามของรัฐบาล สปป.ลาวอนุมัติสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ให้แก่บริษัท เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค จำกัด ในเครือบริษัท สิดทิโลจิสติกส์ลาว จำกัด เป็นผู้พัฒนาท่าบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park-VLP) บนพื้นที่ขนาด 2,387.5 ไร่ มูลค่าการก่อสร้างกว่า 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นด่านสากลบริการด้านพิธีศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ และสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2564 เป็นต้นมา
ที่สำคัญ รัฐบาล สปป.ลาว จดทะเบียนท่าบกเป็น “A Dry Port of International Importance” จำนวน 9 แห่ง โดยมีโครงการท่าบกท่านาแล้งเป็น 1 ใน 9 แห่งที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)
นอกจากโครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ รัฐบาล สปป.ลาวยังมีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์อีกหลายโครงการ อาทิ โครงการทางด่วนนครหลวงเวียงจันทน์-ด่านสากลบ่อเต็น ที่จะช่วยยกระดับโครงข่ายเส้นทางทางบกไปยังประเทศจีน ทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าขึ้นไปทางเหนือ, โครงการเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่จะเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์-ท่าแขก-นาเพ้า-ท่าเรือหวุงอ่าง ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ด้านการเชื่อมต่อ สปป.ลาวสู่ทางออกทะเล ในเวียดนามที่ใกล้ที่สุด โครงการพัฒนาท่าเรือหวุงอ่างในเวียดนาม ซึ่ง สปป.ลาวได้สิทธิในการบริหาร และพัฒนาเต็มรูปแบบโครงการ Mega Projects ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของ สปป.ลาว จาก land-locked สู่ land-linked อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับสร้างทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้กับภูมิภาคอีกด้วย
อ้างอิงแหละที่มา https://www.prachachat.net/csr-hr/news-1369997

 

#โกดังบางปะกง #โกดังให้เช่า #โกดังเก็บสินค้าเกษตร #ท่าเรือบางปะกง #บางปะกง #ท่าเรือบ้านโพธิ์ #แม่น้ำบางปะกง #โกดังฉะเชิงเทรา #คลังสินค้าให้เช่า #สินค้าเทกอง #โกดังเทกอง #โกดังเก็บสินค้า #banphoport #คลังสินค้าเทกอง #ท่าเรือข้าว #ท่าเรือสินค้าเกษตร

 

Scroll Up